ความเป็นมาของโครงการ
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ได้มีมติเห็นชอบให้ รฟม. ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ รวมเป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร และอนุมัติให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมและค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว และให้สำนักงบประมาณจัดหางบประมาณตามความจำเป็น และเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายจริง โดยรัฐบาลรับภาระด้านการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง
ลักษณะโครงการ
แนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งกรุงเทพมหานคร ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ มีโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดเส้นทาง ระยะทาง 13 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นจึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง โดยแนวเส้นทางจะเบี่ยงออกทางด้านทิศตะวันตก และลดระดับเพื่อเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง
รายละเอียดแนวเส้นทาง
สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 9 สถานี โครงสร้างสถานียกระดับมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ตั้งสถานีที่ยาวตามแนวเกาะกลางถนน จึงจัดวางเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ชั้น 1 ระดับพื้นดิน ชั้น 2 ระดับจำหน่ายตั๋ว และชั้น 3 ระดับชานชาลา โดยบางสถานีจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังมีบันไดเลื่อน ลิฟท์ ห้องน้ำ ป้ายประชาสัมพันธ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อผู้พิการอีกด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 123 ไร่ และบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการหลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง ประกอบด้วยอาคารบริหาร และศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการเดินรถ อาคารซ่อมบำรุงหลัก อาคารจอกรถไฟฟ้า รางทดสอบและอาคารประกอบอื่นๆ นอกจากนี้ รฟม. ได้จัดให้มีอาคารจอดรถแล้วจร 1 แห่งที่บริเวณสถานีเคหะสมุทรปราการ ริมถนนสุขุมวิท เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ สามารถอดรถรวมได้ทั้งหมดประมาณ 1,200 คัน
ที่มา https://www.mrta.co.th/th/projectelectrictrain/greenline/